top of page

HISTORY OF PRIESTBORROW

Image by Ishan @seefromthesky
priestborrow-flag-06.png

      พริสท์โบโรว์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ "เกาะสวรรค์แดนใต้" เป็นเกาะรูปทรงยาวทอดตัวในแนวขนานกับแผ่นทวีป ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเอเดน มีจำนวนประชากรอาศัยอยู่น้อยเมื่อเทียบกับขนาดของพื้นที่ ขึ้นชื่อเรื่องภูมิศาสตร์ที่แปลกตาและความสวยงามของธรรมชาติทั้ง 4 ฤดู โดยเฉพาะหาดทรายสีขาวสะอาดสุดสายตา ป่าไม้ผลัดใบที่ปกคลุมเหนือภูเขาไฟทั้งสองลูก และแนวปะการังน้ำตื้นที่ยังมีความอุดมสมบูรณ์อยู่มาก

 

      วิถีชีวิตของชาวพริสท์โบโรว์นั่นเป็นเอกเทศและแตกต่าง ชาวพริสท์โบโรว์โดยมากนิยมความสงบและนับถือธรรมชาติต่างเทพเจ้า และยังคงรักษาวัฒนธรรมดังกล่าวไว้อย่างเหนียวแน่นจวบจนปัจจุบัน ว่ากันว่า "สวรรค์" ในชื่อเกาะสวรรค์แดนใต้นั้นมาจากบรรยากาศที่ชวนให้จิตใจสุขสงบดั่งสรวงสวรรค์ที่อยู่บนผืนโลก

            ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่าชาวพริสท์โบโรว์เริ่มอาศัยอยู่บนเกาะตั้งแต่สมัยใด ปรากฏเพียงนิทานปรัมปราที่เล่าถึงตำนานของมังกรน้ำสองเศียรผู้เป็นปฏิปักษ์กับเทพเจ้าแห่งท้องทะเล ซึ่งครอบครองน่านน้ำฝั่งใต้ของทางเอเดนมาช้านาน สร้างความลำบากให้ชาวเรือและสัตว์ทะเลน้อยใหญ่ ว่ากันว่าทุกครั้งที่มันปรากฏตัวผืนน้ำจะถูกย้อมด้วยสีแดงฉานของโลหิตจากสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์ จนกระทั่งมีนักบวชผู้แก่กล้าทางอาคมปรากฏตัวขึ้นเพื่อประมือกับมังกรน้ำดังกล่าว และปราบปรามลงได้โดยแลกด้วยชีวิตของตน ก่อนลมหายใจสุดท้าย นักบวชได้ใช้อาคมที่เหลือผนึกเอาจ้าวมังกรไว้ กลายเป็นภูเขาไฟทั้งสองลูกของเกาะพริสท์โบโรว์ พริสท์โบโรว์จึงอบอวลไปด้วยกลิ่นอายอาคมที่เจือจางเนื่องจากพลังของมังกรน้ำที่ยังหลงเหลือตกค้างมาจนปัจจุบัน ส่งผลให้ยอดภูเขาไฟทั้งสองของเกาะกลายเป็นบึงน้ำจืดขนาดใหญ่แทนที่แอ่งลาวาเช่นภูเขาไฟทั่วไป

            ชื่อของพริสท์โบโรว์ถูกขนานนามโดยชาวเกาะด้วยตัวเอง ว่ากันว่าชื่อดังกล่าวนั้นถูกขนานนามตามนักบวชผู้ผนึกมังกร แต่บ้างก็กล่าวว่าเป็นการเพี้ยนมาจากชื่อชนเผ่าพรีสต์บาเรี่ยนซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองของเกาะ แม้จะเป็นชื่อที่ชาวเอเดนทั่วไปรู้จักในภายหลัง พริสท์โบโรว์ในอดีตนั้นมักจะปรากฏในแผนที่ของชาวเรือในชื่อเกาะสวรรค์ที่ลี้ห่างจากสายตาของผู้คน

 

            พริสท์โบโรว์เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแดนในยุคสมัยของไฮคิงดราโกเนีย ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา พริสท์โบโรว์ถูกปกครองด้วยราชวงศ์เดียวมาโดยตลอด ด้วยสภาพภูมิประเทศที่เป็นเกาะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับแผ่นดินใหญ่ได้ยาก พริสท์โบโรว์จึงคงสภาพวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมได้โดยตลอด

bottom of page